ไขข้อสงสัย น้ำจากขวดพลาสติกที่ทิ้งไว้กลางแดด ดื่มแล้วเสี่ยงมะเร็งจริงไหม
ไขข้อสงสัย น้ำจากขวดพลาสติกที่ทิ้งไว้กลางแดด ดื่มแล้วเสี่ยงมะเร็งจริงไหม
อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ช่วยไขข้อสงสัย น้ำจากขวดพลาสติกที่ทิ้งไว้กลางแดด ดื่มแล้วเสี่ยงมะเร็งจริงไหม
“อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคลื่อนไหวผ่านทางเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant เผยว่า ข่าว “ไม่ควรดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่ทิ้งไว้กลางแดด” นั้น มีที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือครับ
ถ้าจำกันได้ เรื่อง “ห้ามดื่มน้ำ จากขวดพลาสติกที่ทิ้งไว้กลางแดด เพราะจะมีสารพิษปนเปื้อนออกมา” ได้เคยถูกอธิบายแก้ข่าวกันไปหลายครั้งแล้ว ว่าเป็นแค่เรื่องข่าวปลอม สร้างความหวาดกลัว หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขไทยเรา ก็เคยชี้แจงเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว
แต่ช่วงนี้ก็มีรายงานข่าวทำนองนี้ กลับมาเผยแพร่อีก โดยมาจากแหล่งข่าวในต่างประเทศ (ดูลิงค์ข่าว ในคอมเม้นต์ด้านล่าง) แต่พอไปเช็คแล้ว กลับพบว่าที่มา ที่อ้างอิงกันนั้น กลับไม่ได้น่าเชื่อถือครับ !
ตามรายงานระบุว่า “ซาราห์ ลอว์วัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหาร จากเว็บไซต์เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติก “Storage Box Shop” ของอังกฤษ ออกมาเตือนว่า ไม่ควรดื่มน้ำจากขวดน้ำพลาสติกที่ถูกทิ้งไว้กลางแดดเป็นเวลานาน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิร้อนจัด เช่น ในรถยนต์ที่จอดทิ้งไว้ เพราะความร้อนจะทำให้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ได้แก่ สาร BPA (Bisphenol A) และสาร ธาเลต (Phthalate) หลุดออกมาจากพลาสติกที่ใช้ทำขวด และผสมอยู่ในน้ำดื่ม เข้าสู่ร่างกายจากการดื่มเข้าไปก็จะก่อปัญหาทางสุขภาพ เช่น ทำให้ปวดท้อง, ปวดศีรษะ, เวียนศีรษะ !?
แต่เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ Storage Box Shop แล้ว พบว่าเป็นเว็บขายของ ขายบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดต่างๆ และไม่ได้มีบทความของ “ซาราห์ ลอว์วัน” อยู่บนเว็บไซต์นั้น .. เมื่อกูเกิ้ลเช็ค ก็ไม่ปรากฏด้วยว่า บุคคลนี้มีตัวตนจริง และเคยทำงานที่ใดมาก่อน มีแต่การกล่าวอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับเนื้อหาที่มีการกล่าวอ้างถึง สาร BPA และสาร ธาเลต ที่บอกว่าจะหลุดออกมาผสมในน้ำดื่ม ถ้าขวดพลาสติกถูกทิ้งไว้กลางแดดเป็นเวลานานนั้น .. ก็เป็นเนื้อหา ข่าวปลอม ฟอร์เวิร์ดเมล์มั่ว ที่มีเผยแพร่มานานเป็น 10 กว่าปีแล้ว
จริงๆ แล้ว ขวดพลาสติกที่ใช้บรรจุน้ำดื่มจำหน่ายกันนั้น จะมี 2 แบบคือ ขวดสีขาวขุ่น (ปัจจุบันไม่ค่อยมีเห็นแล้ว) ซึ่งจะทำจากพลาสติกชนิดโพลีเอทีลีน (PE หรือ polyethylene หรือ PE) กับขวดใส (ที่นิยมใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน) ซึ่งทำจากพลาสติกชนิดโพลีเอธิลีน เทเรพธาเลต (polyethylene terephthalate หรือที่เรียกว่า ขวดเพท PET)
ขวดทั้งสองชนิดนี้ ไม่ได้มีสาร BPA (หรือ bisphenal A) เป็นส่วนผสมแต่อย่างไร โดยสาร BPA จะใช้ผลิตพลาสติกพวกโพลีคาร์บอเนต (polycarbonate หรือ PC) ต่างหาก (และปัจจุบัน ก็มีกฏหมายควบคุมปริมาณของ BPA ในพลาสติก PCแล้ว)
ดังนั้น จึงตัดประเด็นเรื่องที่จะมี สาร BPA ออกมาปนเปื้อนในน้ำดื่มบรรจุขวด ของไทยเราได้เลย (ในบางประเทศ เคยตรวจเจอในขวดน้ำดื่มที่ทำจากพลาสติกเก่า ผ่านการรีไซเคิ้ลมาแล้ว เลยมีการปนเปื้อนเล็กน้อย)
ส่วนสาร ธาเลต (Phthalate) ที่เป็นส่วนประกอบของพลาสติกชนิด PET และกังวลว่าอาจจะปนเปื้อนออกมาในน้ำดื่มได้นั้น แต่สารนี้ก็ไม่ได้จะแยกตัวออกจากเนื้อพลาสติกได้โดยง่าย ต้องใช้ความร้อนอุณหภูมิสูงมากและเป็นเวลานาน โดยงานวิจัยในประเทศอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 2012 พบว่า ถ้าจะให้ระดับของสารนี้ ละลายออกมาอยู่ในน้ำดื่มบรรจุขวด จนเกินมาตรฐานที่ EU อียู กำหนดไว้นั้น ขวดน้ำดังกล่าวจะต้องตั้งไว้ในที่อุณหภูมิสูงเกิน 60 องศาเซลเซียส นานเป็นเวลาเกิน 11 เดือน !
ซึ่งในประเทศไทยนั้น มาตรฐานของขวดน้ำดื่ม ชนิดขวด PET ที่กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ ระบุว่า ต้องทนต่อความร้อนจัดตั้งแต่ 60 ถึง 95 องศาเซลเซียสได้ และเคยมีการสุ่มตรวจขวดน้ำ PET กว่า 10 บริษัท และพบว่า ปริมาณของสารต่างๆ ที่ละลายออกมานั้น ไม่ได้สูงเกินมาตรฐานแต่อย่างไร
#กล่าวโดยสรุป โดยอ้างข้อมูลจาก อ.ย. กระทรวงสาธารณสุข ว่า “ที่บอกว่า ดื่มน้ำจากขวดพลาสติกที่วางตากแดดไว้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดเป็นมะเร็งนั้น ไม่เป็นความจริง ดังนั้น ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า การดื่มน้ำจากขวดน้ำดื่มพลาสติกที่เก็บในรถยนต์ที่จอดตากแดด หรือที่ถูกวางตากแดดไว้เป็นระยะเวลานานนั้นไ ม่ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ต่อร่างกาย”