สาว “ง่วงนอนมากผิดปกติ” ก่อนตัดสินใจตรวจละเอียด พบเป็นโรคที่หายขาดไม่ได้
สาว “ง่วงนอนมากผิดปกติ” ก่อนตัดสินใจตรวจละเอียด พบเป็นโรคที่หายขาดไม่ได้
“หมอมนูญ” หัวหน้าหน่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หัวหน้าห้อง ICU โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เปิดเคส ผู้ป่วยหญิงอายุ 22 ปี เริ่มง่วงนอนมากผิดปกติตั้งแต่อายุ 10 ขวบ สุดท้ายพบโรค
“หมอมนูญ” หัวหน้าหน่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หัวหน้าห้อง ICU โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า
ผู้ป่วยหญิงอายุ 22 ปี เริ่มง่วงนอนมากผิดปกติตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทั้งๆที่ไม่ได้อดนอน นอนวันละ 8 ชั่วโมง กลางวันง่วงมาก ต้องเผลอหลับทุกวัน หลังงีบหลับตื่นขึ้นมาสดชื่น บางครั้งมีหูแว่วและเห็นภาพหลอนขณะกำลังจะตื่น เวลามีอารมณ์เช่นหัวเราะ นานๆครั้งมีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ไม่นอนกรน ไม่มียาประจำ ไม่ขับรถ
น้ำหนัก 48 กิโลกรัม สูง 159 เซนติเมตร
ความดัน 100/70 ตรวจร่างกายทุกอย่างปกติ
เข้ารับการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการการนอนหลับ ใช้เวลา 4 นาทีหลับได้ และคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน REM sleep ในเวลาเพียง 1 นาที (หลังจากเริ่มหลับคนปกติคลื่นสมองจะเปลี่ยนเป็นหลับฝันต้องใช้เวลาประมาณ 90 นาที) ไม่พบภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
หลังจากหลับเต็มที่แลัว เช้าวันรุ่งขึ้น ทำการตรวจการนอนหลับตอนกลางวันเป็นช่วงๆในห้องปฏิบัติการ Multiple Sleep Latency Test (MSLT) โดยให้ผู้ป่วยพยายามงีบหลับทุก 2 ชั่วโมง 5 รอบตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ถ้าหลับจะอนุญาตให้งีบหลับได้เพียง 15 นาทีแล้วถูกปลุกให้ตื่น ขณะงีบหลับมีการตรวจคลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และการกลอกตา ผู้ป่วยหลับง่ายได้ทั้ง 5 รอบใช้เวลาไม่ถึง 2 นาทีจากดับไฟจนกระทั่งเริ่มหลับ และคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน REM sleep ทั้ง 5 รอบในเวลา 1-8 นาที ซึ่งถือว่าผิดปกติเข้าได้กับโรคลมหลับ
วินิจฉัย : โรคลมหลับ (Narcolepsy)
เลือกให้ยา Nuvigil (Armodafinil) 150 มิลลิกรัมตอนเช้าวันละ 1 ครั้ง เพราะอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเวลามีอารมณ์เช่นหัวเราะ เกิดขึ้นไม่บ่อยและไม่รุนแรง หลังกินยาผู้ป่วยไม่ง่วง มาง่วงอีกครั้งตอน 5 โมงเย็นหลังยาหมดฤทธิ์
โรคลมหลับไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มียาหลายชนิดช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ ยากระตุ้นให้ตื่นเช่น Armodafinil มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมหลับ ตื่นในเวลากลางวันหลังกินยาตอนเช้าทุกวัน อาการง่วงนอนดีขึ้น ไม่หลับง่ายเหมือนแต่ก่อน คนที่เป็นโรคลมหลับ ห้ามขับขี่ถ้ายังไม่ได้รับการรักษา เพราะอาจหลับขณะขับเป็นอันตรายต่อทั้งคนขับและผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน